เรื่องราวของ T0 กับการไล่ล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของ Grand Seiko
Seiko Watch Corporation ได้เปิดตัวกลไก T0 (T-zero) Constant-force Tourbillon (หรือที่เรียกด้วยตัวย่อว่า “T0”) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย Grand Seiko เมื่อเดือนกันยายนปี 2020 นี่คือการแสดงถึงครั้งแรกของโลกแห่งเรือนเวลาที่นำระบบทูร์บิญองมาผสมผสานกับระบบการส่งแรงอย่างคงที่ (Constant-force) มารวมอยู่บนแกนเดียวกันในกลไกเดียวกัน ด้วยเป้าหมายในการสร้างสรรค์กลไกแบบจักรกลที่มาพร้อมกับความเที่ยงตรงในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในทศวรรษที่ 1960 กลไกแบบจักรกลของ Seiko มีความโดดเด่นและเป็นผู้ชนะอยู่ในแนวหน้าของการแจกรางวัล Neuchatel and Geneva Observatory Competitions ซึ่งถือเป็นรายการแข่งขันที่มีความสำคัญ และได้รับการยอมรับอย่างมากในโลกแห่งเรือนเวลา และด้วยการพัฒนากลไกใหม่ชุดนี้ จะทำให้ Grand Seiko สามารถกลับมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกแห่งเรือนเวลาได้อีกครั้ง
สปริงลาน (Mainspring) ความท้าทายที่ไม่มีวันสิ้นสุดในโลกแห่งนาฬิกาจักรกล
ไม่เหมือนกับนาฬิกาควอทซ์ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ นาฬิกาจักรกลจะถูกขับเคลื่อนโดยแรงคลายตัวของสปริงลาน กลไกของนาฬิกาจักรกลยังคงเหมือนเดิมมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 17 และแม้ว่าจะดูเหมือนล้าสมัยนี้ แต่ทว่าก็ยังคงสามารถใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
Spring Drive ซึ่งเป็นระบบกลไกหนึ่งของ Grand Seiko เป็นสัญลักษณ์ของวิวัฒนาการดังกล่าว Spring Drive มีความแม่นยำเทียบเท่ากับกลไกแบบควอตซ์แม้ว่าจะใช้พลังงานจากสปริงลาน กลไกรุ่นนี้มีความทนทานต่อสนามแม่เหล็ก การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และแรงกระแทกในระดับสูงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดย Seiko ประสบความสำเร็จและเปิดตัวกลไกที่ไม่มีใครสามารถทำขึ้นมาได้
กลไกของนาฬิกาจักรกลสามารถใช้ด้วยฟังก์ชั่นที่หลากหลายมากขึ้น ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้นาฬิกาจักรกลสามารถพัฒนาไปไกลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาที่ถูกผลิตเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น และไม่ต้องพูดถึงถ้าต้องเปรียบเทียบกับนาฬิกาที่ผลิตเมื่อ 100 ปีก่อน อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งยังคงอยู่คือสปริงลานที่ขับเคลื่อนนาฬิกากลไก
ในนาฬิกาจักรกล สปริงลานจะได้รับพลังงาน (หรือ “แรงบิด”) เมื่อมีการหมุนขึ้นลาน หรือจะสูญเสียพลังเมื่อลานนั้นคลายตัว นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมของเล่นแบบไขลานจึงเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงในตอนแรก และเคลื่อนไหวช้าลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ในทางทฤษฎี นาฬิกาจักรกลที่ขับเคลื่อนด้วยสปริงจะมีอัตราการเดินในจังหวะที่คงที่ ซึ่งก็ต้องขอบคุณชิ้นส่วนที่เรียกว่าลูกตุ้มหรือจักรกรอกของกลไก ชิ้นส่วนที่ทำงานภายใต้หลักการของลูกตุ้มก็ควรจะส่งจังหวะที่มั่นคงให้ในการทำงานให้กับนาฬิกาจักรกลโดยไม่คำนึงถึงจำนวนของกำลังงานสำรองที่สปริงลานชุดนั้นเก็บสะสมเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ความแม่นยำของนาฬิกาจักรกลจะลดลงเนื่องจากปัจจัยหลายประการในขณะที่สปริงลานมีการคลายตัว ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าช่างผลิตนาฬิกาไม่ได้ทำอะไรกับมัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลไกรุ่น 9SA5 ของ Grand Seiko ที่เปิดตัวเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งสามารถสำรองพลังงานได้ถึง 80 ชั่วโมง โดยมีการออกแบบรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของใยนาฬิกาและวิธีที่ตั้งชิ้นส่วนนี้เอาไว้ในกลไก จึงสามารถรักษาความเที่ยงตรงในการเดินไว้ได้นานขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามแนวคิดแล้ว แรงบิดควรจะมีเท่ากันไม่ว่าจะเป็นในระหว่างที่ลานสปริงถูกขึ้นจนเต็ม หรือมีการคลายตัวจนใกล้จะหมดลาน
จะรักษาแรงบิดให้คงที่ได้อย่างไร?
นับตั้งแต่นาฬิกาจักรกลที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังจากการคลายตัวของสปริงได้ถูกคิดค้นขึ้น บรรดาช่างทำนาฬิกาและผู้ผลิตนาฬิกาหลายรายพยายามดิ้นรนอย่างหนักในการพัฒนาเพื่อให้แน่ใจว่ากลไกนั้นจะมีแรงบิดคงที่ หากแรงบิดคงที่เกิดขึ้น ความเที่ยงตรงของนาฬิกากลไกจะสูงขึ้นตามไปด้วย หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาคือ ‘Fusee’ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ขับเคลื่อนให้ถังเก็บลานมีการหมุนและขับเคลื่อนพูเลย์ที่มีรูปทรงกรวยผ่านทางโซ่ Fusee สามารถสร้างแรงบิดที่คงที่ได้หากได้รับการออกแบบและผลิตมาอย่างดี สิ่งนี้ถูกนำมาใช้ในเครื่องมือวัดเส้นลองจิจูดหรือเส้นแวงของการเดินเรือ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องยากมากในการติดตั้ง Fusee ลงในสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ อย่าง เช่น นาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมือ
ต่อจากนั้นความสนใจถูกดึงดูดไปที่ระบบกลไกที่มีแรงคงที่ การที่สปริงชิ้นเล็กๆ สามารถรักษาระดับกำลังสำรองในลานได้อย่างคงที่นั้นถูกเรียกว่าสปริงส่งแรงอย่างคงที่ หรือ Constant-force spring ซึ่งจะมีความแตกต่างจากสปริงลาน และถูกนำมาใช้เป็นกำลังที่แยกต่างหากสำหรับการขับเคลื่อนลูกตุ้มหรือจักรกรอก กลไกนี้มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเขื่อนกั้นน้ำและสิ่งที่ทำนั้นถือว่ายอดเยี่ยมในการสร้างความมั่นใจว่ากลไกจะสามารถทำงานโดยที่มีแรงบิดเกิดขึ้นอย่างคงที่
กลไกพร้อมระบบการส่งแรงอย่างคงที่ ยังเป็นแค่ฝันของช่างทำนาฬิกา
ระบบการส่งแรงอย่างคงที่เป็นระบบในอุดมคติที่เหมาะสำหรับนาฬิกาพกพาเนื่องจากมีขนาดที่เล็กกว่าและส่วนประกอบน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Fusee อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะติดตั้งระบบนี้ในชุดกลไกเนื่องจากความยากในด้านการออกแบบและการผลิต มีนาฬิกาจักรกลเพียงไม่กี่เรือนที่ใช้กลไกซึ่งมาพร้อมระบบแรงคงที่ และยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อเป็นนาฬิกาข้อมือ อีกทั้งยังถือเป็นเรื่องยากมากที่จะใช้กลไกที่มีระบบการส่งแรงอย่างคงที่สำหรับนาฬิกาที่ผลิตในเชิงพาณิชย์แม้ว่าจะมีความเป็นเลิศในเชิงทฤษฎีก็ตาม และนั่นก็เลยทำให้ระบบนี้เป็นแค่ความฝันที่ไม่สามารถบรรลุได้สำหรับช่างทำนาฬิกาทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนปี 2020 Grand Seiko ได้เปิดตัวการแนวคิดของการสร้างสรรค์ด้วยกลไกใหม่ เรียกว่า T0 Constant-force Tourbillon ตามชื่อมันเป็นระบบกลไกที่รวมทูร์บิญองเข้ากับระบบแรงคงที่ ซึ่งในความคิดของผมนี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยในอดีต ซึ่งในที่สุด Grand Seiko ก็สามารถบรรลุความฝันในรูปแบบที่สมบูรณ์แบบตามหลักวิชา
ประเพณีที่ Seiko ปลูกฝังผ่านการแข่งขัน Observatory Competition
ปัจจุบัน Grand Seiko ใช้กลไกในตระกูล 9S6 และ 9S8 เป็นกลไกพื้นฐานสำหรับนาฬิกาจักรกลของตัวเอง การพัฒนามีขึ้นโดยการปรับปรุงกลไกรหัส 9S5 ซึ่งในความคิดของผม กลไกรุ่นนี้เป็นหนึ่งในกลไกที่ถูกผลิตในเชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในตลาด เมื่อ 9S6 เสร็จสมบูรณ์ ทีมเทคนิคของ Seiko Instruments Inc. (ปัจจุบันคือ Seiko Watch Corp. ) จึงเริ่มพัฒนาการกลไกรุ่นใหม่ ๆ หนึ่งในความสำเร็จของทีมคือ กลไก 9SA5 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการนำเสนอนวัตกรรมบนประสิทธิภาพการทำงานขั้นพื้นฐานด้วยการปรุบปรุงการออกแบบกลไกและชื้นส่วนใหม่สำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ ความสำเร็จอื่นที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ กลไก T0 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการทำงานที่มีความเที่ยงด้วยกลไกที่ซับซ้อนเพื่อนำไปสู่ความเที่ยงตรงที่เพิ่มขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเรื่องของการผลิตในเชิงพาณิชย์ การแสวงหาความเที่ยงตรงในระดับสูงได้ฝังรากลึกใน Grand Seiko มาตั้งแต่การก่อกำเนิดเมื่อปี 1960 และในครั้งนี้ T0 และกลไก 9SA5 ได้รับการพัฒนาควบคู่กันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งผลต่อกันและกันในระหว่างกระบวนการพัฒนา
ย้อนกลับไปในปี 1964 หรือ 4 ปีหลังจากการถือกำเนิดของ Grand Seiko เรือนแรก Daini Seikosha ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของ Seiko Instruments Inc. และ Suwa Seikosha (ปัจจุบันคือ Seiko Epson Corp. ) เข้าร่วมการแข่งขัน Neuchatel Observatory Competition ซึ่งเป็นการแข่งขันผลิตกลไกใฟ้มีความเที่ยงตรงระดับสูง ที่ผ่านมา ผู้ผลิตนาฬิกาชั้นหนึ่งของสวิสเป็นผู้ชนะมาโดยตลอด แต่ทั้ง 2 บริษัทประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปี 1966 Daini Seikosha ได้อันดับที่ 3 ในประเภทรางวัล Corporate Series ส่วน Suwa Seikosha ได้อันดับที่ 6 ในปี 1967 Daini Seikosha ได้รับรางวัลที่ 2 ในขณะที่ Suwa Seikosha ได้รับรางวัลที่ 3 แม้ว่าจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ Seiko ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกด้วยการประดิษฐ์นาฬิกาควอตซ์ ก็สร้างความประหลาดใจโดยได้รับการจัดอันดับให้อยู่สูงสุดของกลุ่มนาฬิกาจักรกลในช่วงปลายทศวรรษ 1960
กลไกถูกพัฒนาขึ้นมาเฉพาะเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Observatory Competitions โดยทาง Suwa Seikosha (ซ้าย) และ Daini Seikosha (ขวา)
จากนั้นนาฬิกาจักรกลก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญในอันดับต้นๆ สำหรับ Daini Seikosha อีกต่อไป แต่ประเพณีการผลิตนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงสูงก็ยังคงอยู่ นาฬิกาจักรกลของ Grand Seiko ได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการด้วยการเปิดตัวกลไก 9S ในปี 1998 สิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการปลูกฝังผ่านการแข่งขัน Observatory Comprtition สำหรับการผลิตใยนาฬิกา ซึ่งเป็นหัวใจของนาฬิกา ในปี 2006 Grand Seiko กลับสู่ระดับสูงสุดของการผลิตนาฬิกาจักรกลอีกครั้ง ด้วยกลไก 9S6 ซึ่งให้พลังงานสำรองที่ยาวนานขึ้นและมีความต้านทานแม่เหล็กในระดับที่สูงขึ้น
Seiko เคยกวาดความสำเร็จในการแข่งขัน Observatory Competitions และพัฒนากลไก 9S ได้สำเร็จในเวลาต่อมา ในปี 2012 Takuma Kawauchiya ผู้ออกแบบกลไกและผู้ผลิตนาฬิกาของ Seiko Instruments Inc. (ปัจจุบันคือ Seiko Watch Corp.) เริ่มแสวงหาความเป็นไปได้ในการสร้างนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงสูงเป็นพิเศษโดยใช้เทคโนโลยีทั้งหมดที่ Seiko ได้รับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาคิดว่ากลไกทูร์บิญองไม่น่าจะยากขนาดนั้น จึงตัดสินใจที่จะท้าทายตัวเองในการติดตั้งระบบแรงคงที่ซึ่งช่างทำนาฬิกาใฝ่ฝันกัน
ทูร์บิญองรุ่นแรกของโลกที่รวมระบบการส่งแรงอย่างคงที่ เข้าด้วยกัน
เมื่อติดตั้งระบบการส่งแรงอย่างคงที่ใกล้กับสปริงลาน เป็นเรื่องง่ายขึ้นในการควบคุมกำลังในการคลายตัวของสปริงลาน อย่างไรก็ตามกลับได้ประสิทธิภาพต่ำกว่าและแรงบิดไม่สม่ำเสมอเนื่องจากอยู่ห่างจากจักรกรอกมากเกินไป ในทางกลับกันเมื่อวางไว้ใกล้กับจักรกรอกก็จะสามารถส่งพลังงานไปยังจักรกรอกได้อย่างเสถียรและคงที่ ในกรณีนี้ต้องควบคุมแรงบิดให้มีปริมาณน้อยมากเมื่อเข้าใกล้จักรกรอกมากขึ้น ซึ่งทำให้ยากที่จะรักษาเสถียรภาพเอาไว้ได้
Kawauchiya มุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบที่มีเสถียรภาพในขณะที่ติดตั้งระบบการส่งแรงอย่างคงที่ให้ใกล้กับจักรกรอกมากที่สุด ตามที่ได้กล่าวไปแล้วทั้ง 2 องค์ประกอบมีความสัมพันธ์ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้ และเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ทั้งคู่ทำงานร่วมกันได้
ในทางทฤษฎี ผลกระทบของแรงโน้มถ่วงสามารถลดลงได้หากจักรกรอกถูกหมุน นั่นคือแนวคิดของกลไกทูร์บิญอง ดังนั้น Kawauchiya เลยเกิดความคิดที่จะติดตั้งระบบการส่งแรงอย่างคงที่ในตำแหน่งที่อยู่ใต้ทูร์บิญอง โดยทั่วไปแล้วทูร์บิญองจะมีชิ้นส่วน (เรียกว่า ‘’carriage’) ซึ่งเป็นการรวมจักรกรอกและเฟืองเอสเคปและติดตั้งอยู่บนจักรสี่ที่จะหมุนหนึ่งครั้งต่อนาที ในกรณีนี้ เมื่อมีการติดตั้งระบบการส่งแรงอย่างคงที่เพิ่มเข้าไป ก็มักจะถูกวางไว้ห่างจาก carriage อย่างไรก็ตาม กลไก T0 จะเก็บแรงบิดจากเฟือง Coaxial ที่ถูกจัดเรียงพร้อมกับ carriage อยู่ในสปริงของระบบการส่งแรงอย่างคงที่ และพลังงานที่มาจากการคลายตัวของสปริงจะถูกใช้สำหรับหมุน carriage ซึ่งก็รวมถึงจักรกรอกที่อยู่ในนั้นด้วย
เพิ่มแรงบิดและลดแรงต้าน
Kawauchiya ศึกษากลไกที่มีการส่งแรงอย่างคงที่หลายแบบ เขาพยายามเพิ่มแรงบิดเพื่อให้ได้กลไกระบบการส่งแรงอย่างคงที่ในอุดมคติขึ้นมา ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้ถังลานแบบคู่ที่มาพร้อมกับสปริงลาน 2 ชุด หากวางถังลานไว้แบบต่อเนื่องกัน การสำรองพลังงานจะนานขึ้น หากวางถังลานแบบคู่ขนาน แรงบิดก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และ Kawauchiya เลือกอย่างหลัง ด้วยเหตุนี้ T0 จึงกลายเป็นกลไกแรกในประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาของ Seiko ที่มีการวางถังลาน 2 ถังแบบคู่ขนาน เพื่อทำให้ระบบการส่งแรงอย่างคงที่มีการทำงานที่มีเสถียรภาพ
ความต้านทานก็ลดลงอย่างมาก จักรกลางและจักรสามได้รับการเคลือบพิเศษเพื่อลดแรงเสียดทานและรองรับแรงบิดที่ยอดเยี่ยมซึ่งถูกส่งมาจากถังคู่ แรงที่ถูกส่งอย่างคงที่จะถูกเก็บแรงที่มาจากสปริงลานเอาไว้และปล่อยออกมาในช่วงเวลาคงที่ ดังนั้น ในฐานะส่วนประกอบสำคัญ เฟืองหยุดการทำงานจึงจำเป็นต้องมีความทนทานสูงและมีแรงเสียดทานต่ำ Kawauchiya ใช้เฟืองเซรามิกที่ได้รับการผลิตอย่างมีความเที่ยงตรงสูงซึ่งมีการประมวลผลที่แม่นยำถึงระดับไมครอน สำหรับเฟืองหยุดการทำงาน ตรงนี้เป็นผลให้ T0 สามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงในทุกวินาทีโดยเฟืองหยุดการทำงานไม่เกิดการสึกหรอ
นอกจากนี้เขายังใช้แนวทางที่แตกต่างในการผลิตเฟือง โดยทั่วไปแล้วชิ้นส่วนนาฬิกาจักรกลจถถูกผลิตโดยเครื่องจักร เนื่องจากเฟืองที่ได้รับการกลึงอย่างแม่นยำแทบจะไม่ทำให้การส่งกำลังของสปริงลานผิดปกติ อย่างไรก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่ามีความแม่นยำสูงขึ้น Kawauchiya ได้ใช้กระบวนการผลิตที่เรียกว่า Micro Electro Mechanical Systems (MEMS) ซึ่งเป็นเทคนิคการขึ้นรูปที่ใช้สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ฟิล์มโลหะมีลักษณะเป็นชั้นๆ เหมือนกับการชุบเพื่อสร้างรูปร่างฟันเฟืองที่สมบูรณ์แบบด้วยการวัดที่แม่นยำในระดับหน่วยไมครอนเลยทีเดียว จากการใช้อยู่ในชิ้นส่วนอย่าง Pallet fork และเฟืองเอสเคปของกลไก Grand Seiko ถือเป็นครั้งแรกที่ บริษัทได้นำเทคโนโลยี MEMS มาประยุกต์ใช้กับการผลิตเฟืองเกือบทั้งหมดในระบบกลไกของตัวเอง
การปรับปรุงเพื่อความเที่ยงตรงที่สูงขึ้น
ถือเป็นทางเลือกที่ควรจะเป็นในการพัฒนา T0 โดยใช้พื้นฐานของกลไก 9S65 ซึ่งผ่านการทดสอบและเชื่อถือได้ในการทำงาน ส่วนประกอบสำคัญของกลไก เช่น สปริงลาน รางเฟือง เฟืองเอสเคป และจักรกรอกได้รับการออกแบบโดยอ้างอิงจากพื้นฐานของชิ้นส่วนจากกลไก 9S65 ซึ่งคันโยกและชุดคานสำหรับปรับแต่งได้รับการออกแบบตาม 9S65 เช่นกัน
แน่นอนว่า จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้ความเที่ยงตรงที่สูงขึ้นมาก หนึ่งคือจักรกรอกที่ถูกออกแบบไม่ให้มีการสั่นสะเทือนขณะทำงานและไม่มีตัวเรกูเรเตอร์ควบคุม ในนาฬิกาจักรกลหลายรุ่น ความยาวของใยนาฬิกาจะเปลี่ยนไปโดยตัวควบคุมเพื่อชดเชยเวลาที่ได้รับหรือสูญเสีย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการปรับเพิ่มและการชดเชยเวลาของนาฬิกาลูกตุ้มโดยการเปลี่ยนความยาวของลูกตุ้ม อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดแรงกระแทกและมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความเที่ยงตรงเมื่อสปริงลานคลายตัวออกมาในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีนาฬิกาจะมีนาฬิกาบางรุ่นในตลาดที่มีตัวควบคุมเพื่อช่วยให้มั่นใจได้ถึงความเที่ยงตรงในขณะที่สปริงลานกำลังคลายตัว แต่กลไกที่ไม่มีตัวควบคุมก็ถือว่าเป็นกลไกในอุดมคติเมื่อมองในเชิงทฤษฎี
นั่นคือเหตุผลที่ Kawauchiya ใช้จักรกรอกที่ถูกออกแบบไม่ให้มีการสั่นสะเทือนขณะทำงานและไม่มีตัวเรกูเรเตอร์ควบคุม ตัวกลไกนี้มีการปรับเพิ่มและสูญเสียเวลาผ่านความเฉื่อยของจักรกรอกโดยไม่ต้องเปลี่ยนความยาวของใยนาฬิกา แม้ว่าการออกแบบและการผลิตจะยากกว่าจักรกรอกที่มีตัวควบคุม แต่ก็มีคุณสมบัติทนต่อแรงกระแทกที่มากขึ้นและรักษาความเที่ยงตรงที่มีเสถียรภาพมากกว่าเป็นระยะเวลาที่นาน แนวคิดนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสำหรับ 9SA5 โดยมีเป้าหมายเพื่อการปฏิวัติประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของกลไก และ Kawauchiya ตัดสินใจลองใช้ระบบนี้ในกลไก T0
อีกลักษณะหนึ่งคือ ความถี่ที่สูงขึ้น จักรกรอกเพิ่มความเที่ยงตรงเมื่อเคลื่อนที่เร็วขึ้น คล้ายกับลูกข่างที่หมุนเร็วซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะล้มลง Seiko เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในการผลิตนาฬิกาที้เดินด้วยความถี่สูงในช่วงทศวรรษที่ 1960 และสามารถชนะการแข่งขัน Observatory Competitions ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือการเปิดตัว 9SA5 ในปี 2020 ซึ่งเดินด้วยความถี่ระดับ 36,000 ครั้ง / ชั่วโมง
T0 ยังสืบทอดประเพณีนี้ T0 เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง / ชั่วโมงซึ่งเทียบเท่ากับกลไก 9S6 ตัวเลขนี้ไม่ได้หายากสำหรับนาฬิกาจักรกลแต่อย่างใด แต่จะหายากขึ้นมากในกรณีที่กลไกนั้นมีการส่งแรงออกมาอย่างต่อเนื่องโดยที่กำลังลานจากสปริงมีจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางนี้ T0 ประบความสำเร็จในการทำงานด้วยความถี่สูงสุดเท่าที่เคยมีมาในนาฬิกาจักรกลที่มีระบบการส่งแรงอย่างคงที่ ด้วยการใช้สปริงลาน 2 ตัวและลดแรงต้านทานที่เกิดขึ้นในระบบกลไก สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจอย่างมากคือขนาดของจักรกรอกที่ไม่เปลี่ยนไปจากขนาดเดียวกับที่ใช้ในกลไก 9S6
การทดสอบการวัดค่าโดยใช้กลไกต้นแบบพบว่าผลกระทบของแรงโน้มถ่วงลดลงเหลือหนึ่งในสิบหรือน้อยกว่า ต้องขอบคุณกลไกทูร์บิญอง และสามารถรักษาความเที่ยงตรงในระดับสูงได้นานถึง 50 ชั่วโมงจาก 72 ชั่วโมงเนื่องจากระบบการส่งแรงอย่างคงที่ ความถี่สูงและจักรกรอกแบบไร้แรงสั่นสะเทือนจะช่วยเพิ่มความเที่ยงตรงอย่างมากขณะที่สวมใส่นาฬิกา ซึ่ง T0 พิสูจน์ความถูกของทฤษฎีในด้านความเที่ยงตรงผ่านทางกลไกตัวเป็นๆ ได้แล้ว
มรดกแห่งการออกแบบจาก 50 ปีที่แล้ว
เมื่ออยู่กับนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงสูง สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณอาจถูกล่อลวงให้ปรับตั้งเวลาที่มีความเที่ยงตรงถึงในระดับวินาที อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะเพิ่มฟังก์ชันการหยุดเข็มวินาที (Hacking) ให้กับกลไกทูร์บิญองที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วคันโยกจะต้องสัมผัสกับจักรกรอกเมื่อนาฬิกาจักรกลหยุดการทำงาน อย่างไรก็ตามในกรณีของทูร์บิญองนันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาคันโยกวางบนจักรกรอกโดยตรงเนื่องจาก Carriage และจักรกรอกจะถูกหมุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น Kawauchiya จึงตัดสินใจหยุด Carriage ทั้งชุดแทนที่จะหยุดเฉพาะตัวจักรกรอกเท่านั้น
ในตลาดนั้นมีกลไกทูร์บิญองรุ่นอื่นๆ ที่สามารถหยุดการทำงานของ Carriage ได้ อย่างไรก็ตาม T0 เป็นกลไกที่แตกต่างและไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง โดยปกติแล้วการให้นาฬิกากลับมาเดินอีกครั้งทำได้ยากกว่าเนื่องจากจำนวนการสั่นที่เพิ่มขึ้น โดยในกลไก T0 นั้น ชุด Carriage จะมีขนาดใหญ่เพราะติดตั้งระบบการส่งแรงอย่างคงที่และมีการเดินด้วยความถี่28,800 ครั้ง / ชั่วโมง ผมสามารถจินตนาการได้อย่างง่ายดายถึงความยากลำบากในการทำให้กลไก T0 กลับมาทำงานอีกครั้งหลังจากที่มีการหยุดการทำงานของ Carriage อีกทั้ง T0 ยังได้รับการออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสตาร์ทอีกครั้ง โดยการหมุน Carriage ในทิศทางตรงกันข้ามทันทีเมื่อคันโยกสำหรับหยุดการหมุนของ Carriage ถูกปลดออก (อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร) ตรงนี้ถือเป็นกลไกเดียวกับที่ Seiko ใช้ในนาฬิกาจับเวลาสำหรับโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ที่โตเกียว หลังจากนั้นกลไกดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้กับ Calibre 45 ซึ่งเป็นตำนานแห่งกลไกที่มีความเที่ยงตรงสูงของ Grand Seiko ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ T0
คุณค่าทางอารมณ์ในการตกแต่งและเสียง
Kawauchiya ได้สร้างกลไกขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลกแห่งเรือนเวลาที่นำระบบทูร์บิญองมาผสมผสานกับระบบการส่งแรงอย่างคงที่ (Constant-force) มารวมอยู่บนแกนเดียวกันในกลไกเดียวกัน คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของผลงานชิ้นเอกนี้ได้ถูกยกระดับเพิ่มขึ้นอีก ส่วนประกอบทั้งหมดของกลไกรวมถึง Main Plate และตัวเรือนหลักของกลไก (Bridge) ได้รับการตกแต่งให้สวยงามด้วยมือจากช่างฝีมือทั้งชายและผู้หญิงโดยใช้เวลานานกว่า 3 เดือน การเคลือบผิวถูกทำขึ้นโดยเทียบเท่ากับนาฬิการะดับหรูหราที่สุดที่ผลิตในสวิสส์ ซึ่งความเชี่ยวชาญเหล่านี้ก็ได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพใน 9SA5 ด้วยเช่นกัน
T0 มีความโดดเด่นอย่างชัดเจนด้วยเสียงการเดินของนาฬิกา เสียงการเคลื่อนที่ของเฟืองเอสเคปดัง 8 ครั้งต่อวินาที ในกรณีที่นาฬิกาดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง / ชั่วโมง ในกรณีของ T0 เสียงเดินของนาฬิกาจะมีความรู้สึกเหมือนกับเสียงของโน้ตตัวที่ 16 พร้อมกับเสียงกระทบของระบบการส่งแรงอย่างคงที่เกิดขึ้นทุกวินาที ต้องอาศัยความแม่นยำในการประมวลผลในระดับที่สูงมากเพื่อให้แน่ใจว่าในช่วงทุกๆ 1 วินาทีจะมีการปลดปล่อยแรงบิดด้วยแรงคงที่ Kawauchiya พยายามทำให้ความเที่ยงตรงในการประมวลผลถูกมองว่าเป็นเสียง โดย T0 ประสบความสำร็จในการเสียงของโน้ตตัวที่ 16 ที่สมบูรณ์แบบด้วยล้อหยุดการทำงานที่ผลิตจากเซรามิกและถูกผลิตให้มีความแม่นยำในระดับไมครอนและกลไกในการควบคุมจังหวะการทำงานอย่างละเอียด
ความเที่ยงตรงในฐานะนาฬิกาจักรกลยังสะท้อนให้เห็นในรูปแบบของเสียงซึ่งสร้างคุณค่าทางอารมณ์ควบคู่ไปกับการตกแต่งที่สวยงาม T0 ถือเป็นก้าวใหม่ของบริษัทอย่างไม่ต้องสงสัยซึ่งที่นี่ไม่เคยหยุดที่จะแสวงหาความที่ยงตรงในระดับสูงสุดไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิตนาฬิกาจักรกลหรือระบบควอตซ์
T0 แสดงให้ถึงอนาคตของ Grand Seiko
ด้วยการใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้รับจากการแข่งขันใน Observatory Competitions ทาง Seiko ยังคงแสวงหานาฬิกาจักรกลที่มีความเที่ยงตรงสูงใน Grand Seiko เวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อนที่ T0 Constant-force Tourbillon ได้ถูกสร้างขึ้น สำหรับผมแล้วมันเป็นนาฬิกาที่มีความทะเยอทะยานที่สุดในประวัติศาสตร์ศาสตร์ของโลกแห่งเรือนเวลาของญี่ปุ่น นี่คือเรือนเวลาที่นำระบบทูร์บิญองมาผสมผสานกับระบบการส่งแรงอย่างคงที่ (Constant-force) มารวมอยู่บนแกนเดียวกัน และมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเช่นเดียวกับกลไกแบบความถี่สูงของ Seiko ในที่ส่งเข้าแข่งขันใน Observatory Competitions เมื่อปี 1960
บริษัทอธิบายว่า T0 เป็นเพียงแค่แนวคิดแห่งการสร้างสรรค์ แต่ทว่ามันไปไกลมากกว่านั้น ในขณะที่การแข่งขัน Observatory Competition ได้พัฒนาประสิทธิภาพของ Grand Seiko อย่างมีนัยสำคัญ การแสวงหาความเที่ยงตรงที่สูงขึ้นและเทคโนโลยีการผลิตนาฬิการวมถึงการตกแต่งรายละเอียดของกลไกของ T0 ล้วนมีส่วนช่วยในการผลิต 9SA5 ที่ถือเป็นการปฏิวัติแนวคิดในการพัฒนากลไก โดยส่วนตัวแล้ว T0 แสดงให้เห็นถึงอนาคตที่ยอดเยี่ยมสำหรับ Grand Seiko แทนที่จะเป็นเพียงการนำเสนอความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมเพียงอย่างเดียว